สาเหตุของอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ??


ทำไมยกของแค่ลังนิดเดียว ทำไมจึง ปวดที่บริเวณหัวไหล่?
หรือสะบัก ยกแขนไม่ค่อยขึ้น

นั่งประชุมนานนิดเดียว ก้อหลังแข็ง ปวดหลังละ ขยับหรือเอี้ยวตัวไม่ได้

ขับรถแป้บเดียว ปวดเมื่อยต้นคอ คอแข็ง เอี้ยวคอไม่ได้ ปวดเมื่อยต้นแขน ปลายแขน ชาปลายนิ้วมือ หรือนิ้วเท้า เวียนศีรษะบ่อยๆ ปวดเมื่อยๆที่เอว ปวดหลังเมื่อยๆ หรือตึงๆ หลัง

เดินนานๆ แล้วขาไม่มีแรง นั่งคุกเข่าไม่ได้ นั่งแล้วลุกไม่ขึ้น เข่าอ่อน มีเสียงดังในเข่า เวลางอหรือเหยียดเข่า ปวดเข่า ปวดข้อศอก ปวดนิ้วมือ ตอนเช้าๆ กำมือไม่ค่อยได้ นิ้วมืองอค้าง เหยียดออกไม่สะดวก ปวดหลังร้าวไปสะโพกเป็นบางครั้ง ฯลฯ

ซึ่งสาเหตุของอาการปวดจริงๆ แล้วมีมากมายมากกว่า 100 สาเหตุ แบ่งเป็นหัวข้อใหญ่ๆได้ดังนี้ เรามาเรียนรู้กันว่าทำไมเราจึงแก่ เอ้ย ทำไมเราจึงปวดและจะหาทางบรรเทาอย่าไร? ไม่ให้ปวดบ่อยๆ

1 “อิริยาบถและการใช้งาน”
นั่นก็คือท่วงท่าการทำกิจวัตรประจำวันที่ไม่ถูกต้อง เช่น คนที่นั่งทำงานในลักษณะก้มคออยู่นานๆจะปวดคอ เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ที่ต้องนั่งก้มคอพิมพ์งานทั้งวัน ก็จะทำให้ปวดคอได้ หรือ “นอนตกหมอน” ซึ่งก็เกิดมาจากท่านอนที่ไม่ถูก หลับบนโต๊ะบ้าง หลับบนรถเมล์บ้าง หรือหมอนที่ไม่ได้รูป ผิดสุขลักษณะ แม่บ้านที่หิ้วตระกร้าหนักเกินไปขณะจ่ายตลาด จะปวดไหล่ได้ หรือจากการกวาดบ้านทุกๆวัน ก็จะปวดข้อมือได้ คนที่ต้องทำงานใช้แรงก้มๆเงยๆ ยกของหนักเกินไป ทำให้แรงที่กดบนกระดูกสันหลังไปกดหมอนรองกระดูก ทำให้หมอนรองกระดูกโป่งหรือเคลื่อนไปกดเส้นประสาทไขสันหลัง เกิดอาการปวดร้าวไปตามด้านหลังของขา จะเกิดอาการหลังแข็งไม่สามารถก้มและเงยลำตัวได้ บางรายมีการกดทับเส้นประสาทอย่างรุนแรงจนกระทั่งกล้ามเนื้อข้อเท้าหรือนิ้วเท้า อ่อนแรงจะต้องรีบรักษาโดยด่วน รวมไปถึงคนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย หรือคนที่ชอบนอนบนที่นอนที่อ่อนนุ่มเกินไป นอนบนเก้าอี้ผ้าใบหรือโซฟาที่ทำให้หลังก้มโค้งอยู่เป็นเวลานาน จะทำให้ปวดหลังได้ ผู้สูงอายุที่เวลาไปวัดแล้วชอบนั่งยองๆนั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบก็จะปวดเข่าได้

2 “ปัจจัยส่วนตัว”

เช่น น้ำหนักตัวที่มากเกินไป หรือ “อ้วนเกินไป” จะทำให้เกิดปัญหาปวดได้ คนที่อ้วนจะพุงยื่น ทำให้หลังมีความยืดหยุ่นลดลง หรือเรียกว่าหลังแข็ง ทำให้เกิดอาการปวดหลังตามมาได้ น้ำหนักตัวที่มาก กดลงบนหัวเข่า กระดูกขา กระดูกส้นเท้า ก็จะทำให้อาการปวดตามมาด้วย อาการปวดอาจจะมากจนเป็นอุปสรรคในการเดิน

3 “การเสื่อมไปตามวัย”

เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น และความเสื่อมตามธรรมชาติ ซึ่งเกิดกับมนุษย์มนุษย์ทุกคน ซึ่งความเสื่อมนี้ไม่ว่าจะกินยาบำรุง หรือดูแลดีเพียงใดยังไง ออกกำลังกายทุกวันก็เพียงแค่ช่วยชะลอความเสื่อมเท่านั้น การเสื่อมนี้นอกจากจะเป็นไปตามวัยแล้ว การเสื่อมเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการอย่างเช่นการเสื่อมของข้อต่อเร็วกว่าปกตินั้น เกิดจากการใช้ข้อต่อเหล่านั้นอย่างไม่ถูกต้อง มีท่าทางและอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม เป็นสาเหตุสำคัญที่พบมากที่สุด ส่วนสาเหตุอื่นๆคือ เคยมีข้ออักเสบของข้อ เช่นเคยได้รับบาดเจ็บที่ข้อนั้นๆมาก่อน เคยเข้าเฝือกไว้นานๆ ที่ข้อต่อนั้นแล้วไม่มีการเคลื่อนไหว รวมไปถึงคนที่ชอบกินยาแก้ปวด แก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ฯลฯ กินเป็นเวลานานๆ และ ไม่ค่อยออกกำลังกาย โดยปกติอาการของข้อเสื่อมจะเป็นมากในตอนตื่นนอนเช้า จะรู้สึกว่าขัดๆในข้อต่อ ข้อฝืด ข้อแข็ง เมื่อขยับลุกขึ้นยืนก็จะรู้สึกเจ็บๆ ตึง บางคนอาจมีเสียง กร๊อบแกร๊บตามข้อต่อต่างๆเมื่อ เดินหรือนั่งสักพักอาการเหล่านี้ก็หายไปได้หรือบางคนอาจบีบๆนวดอาการก็ทุเลาลงได้

4 “สังคม”

ที่พบมากเช่นกันในสังคมกรุงเทพฯ ปัจจุบันคือ อารมณ์ตึงเครียด ความวิตกกังวล จนทำให้เกิดอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อได้ เช่น นั่งขับรถนานๆ รถติดมากๆ จะปวดคอ ปวดหลังได้ นอกจากปัจจัยเรื่องอิริยาบถไม่ถูกต้องแล้ว ความเครียดก็ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวได้เช่นกัน กล้ามเนื้อที่เกร็งมากก็จะขาดเลือดมาเลี้ยง ทำให้เกิดอาการปวดตามมา

5. สุดท้าย “เกิดจากโรค” จริงๆหล่ะทีนี้
คือเป็นโรคของระบบอื่นๆแต่มีอาการปวดได้ เช่นเป็นโรคไต ต่อมลูกหมากโต มดลูกอักเสบ จะเกิดอาการปวดเอวได้ ฟันผุหรือช่องหูอักเสบ จะปวดหัว โรคไมเกรนจะปวดต้นคอได้ โรคข้ออักเสบต่างๆที่มีอยู่มากมายที่พบบ่อยเช่น รูมาตอยด์ โรคเกาท์ ความผิดปกติของกระดูกแต่กำเนิด เช่นขาสั้นยาวไม่เท่ากัน เวลาเดินจะทำให้ปวดได้ ตั้งแต่คอ หลัง สะโพก เข่าและข้อเท้า คนที่กระดูกสันหลังคด จะปวดหลัง ปวดคอได้ โรคกระดูกโปร่งบาง หรือกระดูกพรุน ในผู้สูงอายุโดยเฉพาะสตรีในวัยหมดประจำเดือนซึ่งถ้าไม่รักษาที่สาเหตุอาการปวดเหล่านี้ อาการปวดก็จะไม่หาย ดังนั้นการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องแม่นยำสำคัญมาก ซึ่งต้องวินิจฉัยอย่างละเอียดและแม่นยำ เนื่องจากเป็นโรคที่มีความจำเพาะต่อการรักษา

แหล่งข้อมูลและรูปภาพ:
*วรินทร์ดา อินทิราวรนนท์
http://www.pt.mahidol.ac.th/

แหล่งที่มา

สาระสุขภาพยาน่ารู้โดยเภสัชกรอุทัย